วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

อุตสาหกรรมวัฒนธรรม/อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คืออะไร

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
โดย UNESCO

อุตสาหกรรมวัฒนธรรมหมายถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเชิงศิลป์และสร้างสรรค์ของสินค้า/ผลิตภัณฑ์/ผลงาน (Outputs) จากศิลปวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้ และที่จับต้องไม่ได้ โดยผลงานสร้างสรรค์เหล่านั้น จะต้องมีศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างรายได้ผ่านการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและการผลิตโดยใช้ฐานความรู้ของสินค้าและบริการ (ทั้งจากแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย) โดยอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจะต้องยึดหลักการของความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อผลิตสินค้า/ผลงานและบริการที่มีความหมายเชิงสังคมและวัฒนธรรม

อุตสาหกรรมวัฒนธรรม หมายรวมถึง โฆษณาประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรม หัตถกรรม การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แฟชั่นเสื้อผ้า ภาพยนตร์ วีดิโอ และผลงานด้านโสตทัศน์ การออกแบบกราฟิก ซอฟท์แวร์ด้านการศึกษาและบันเทิง การแสดงดนตรี และ เทปดนตรี ศิลปะการแสดง /การแสดงเพื่อบันเทิงอื่นๆ โทรทัศน์ วิทยุ และการถ่ายทอดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต งานทัศนศิลป์ โบราณวัตถุ การประพันธ์ และสื่อสิ่งพิมพ์
คำว่า “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” (Cultural Industries) มีความหมายคล้ายคลึงและสามารถนำมาใช้แทนคำว่า “อุตสาหกรรมการสร้างสรรค์” (Creative Industries)

โดยแนวคิดหลักของ อุตสาหกรรมวัฒนธรรม จะเน้นในด้านอุตสาหกรรมที่มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์/ผลิตผลงานมาจากมรดกทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ด้านประเพณี และองค์ประกอบด้านงานศิลป์ของการสร้างสรรค์ ขณะที่แนวคิดหลักของ อุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ จะเน้นในด้านปัจเจกบุคคล และผลงานจากการสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ ทักษะ และความสามารถ ในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลใดๆ

แนวคิดของ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” นี้ มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดในเรื่อง “ทรัพย์สินทางปัญญา” แต่ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างกันในกรณีของการจัดประเภท โดยแนวคิดทรัพย์สินทางปัญญาจะเน้นในด้านของการดำเนินการด้านข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ (Information-driven economies) รวมถึงการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาซอฟแวร์และฐานข้อมูล การให้บริการด้านโทรคมนาคม และการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ (hardware) รวมถึงอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์

การเปรียบเทียบประโยชน์ ของความร่วมมือระหว่างวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Cultures)
“อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงมาก โดยแต่ละประเทศจะมีความสามารถและประสบการณ์ในการแข่งขันแบบเฉพาะอย่าง โดยขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ อย่างไรก็ดีปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้มีความพยายามที่จะรวมตัวและประสานความร่วมมือในระดับเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เสริมสร้างศักยภาพ และข้อได้เปรียบเพื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ความร่วมมือดังกล่าวนี้เรียกว่า “กลุ่มความคิดสร้างสรรค์”(Creative Clusters) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคความคิดสร้างสรรค์ ของแต่ละประเทศในกลุ่ม ตลอดจนเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขจัดปัญหาความยากจน ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มดังกล่าวก็ถือเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในกลุ่มความร่วมมือ สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
การพัฒนานโยบายอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลและตัวเลขสถิติที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาอย่างถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือ โดยข้อมูลดังกล่าวจะต้องนำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการใช้ข้อมูลสถิติในการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมรมนั้นได้แก่ การประเมินขอบเขตและผลสะท้อนที่ช่วยลดปัญหาความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศ

ดัชนีชี้วัดทางอุตสาหกรรมวัฒนธรรมมีความคล้ายคลึงกับดัชนีชี้วัดในอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจ โดยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสามารถประเมินได้จากสัดส่วน (Ratio) ขององค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ ประชากรที่มีงานทำ (Working Population) ผลผลิต (Output) เงินทุนไหลเวียน (Capital) ผลิตภาพ (productivity) หรือความสามารถในการผลิต

อย่างไรก็ดี ถ้าไม่มีข้อมูลในมิติเชิงสังคมของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมมาประกอบด้วย การวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมก็มิอาจสมบูรณ์ได้ โดยตัวเลขดังกล่าวประกอบด้วย ข้อมูลของผู้ดำเนินการด้านศิลปะ วัฒนธรรม (Programmers) ข้อมูลแรงงานมีทักษะที่อยู่ในภาคไม่เป็นทางการ (non-formal sector workforce) การอุดหนุนด้านเศรษฐกิจ และอัตราการขยายตัวทางผลิตภาพ (Productivity growth) ข้อมูลจำนวนสิทธิบัตร (patent) หรือความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลิตภัณฑ์ และกระบวนการ/โครงการต่างๆ (proprietary rights) ข้อมูลการลงทุนเพื่อการวิจัยและการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การบริจาคและการใช้จ่ายเงินเพื่อสวัสดิการสังคม และการดำเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้อมูลการเคลื่อนย้ายของแรงงานและเงินทุน

การบริหารจัดการกฎหมายของแต่ละสังคม (societal regimes of law) สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ วัฒนธรรมเชิงสังคมและปัจจัยโครงสร้างทางการเงิน จริยธรรมและลักษณะทางพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของชุมชน ทัศนคติที่มีต่อชนกลุ่มน้อย/ผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน หรือสังคมอีกด้วย

มติที่ประชุมและความริเริ่ม Jodhpor (The Jodhpur Consensus and Initiatives) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญอาวุโสได้เข้าร่วมการประชุม “ชุมชนความคิดสร้างสรรค์: ยุทธศาสตร์สำหรับศตวรรษที่ ๒๑” (Symposium Asia-Pacific Creative Communities: A Strategy for the 21st Century) ณ เมือง Jodhpur ประเทศอินเดีย โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ องค์การความร่วมมือทางการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (UNESCO) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDP) องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนี้มีศักยภาพที่จะขจัดความยากจนของแต่ละประเทศ และคณะผู้เชี่ยวชาญอาวุโสได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เรียกว่า “The Jodhpur Consensus and Initiatives) นั่นเอง

มติที่ประชุมดังกล่าว เน้นให้ยุทธศาสตร์มุ่งปรับสถานภาพ (Repositioning) ของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้กลายเป็นกลไกลสำคัญพื้นฐานสำหรับขับเคลื่อนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศ (Socio-economic growth) และเป็นกุญแจสำคัญในการจัดทำแบบจำลองเพื่อการพัฒนาสังคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการขยายวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทาง UNESCO และหน่วยงานอื่นๆ ได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการจัดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างภายใต้ความริเริ่ม JODHPUR

ทั้งนี้ ภายใต้ ความริเริ่ม JODHPUR ผู้จัดทำตระหนักว่าประเทศต่างๆ ต้องการการสนับสนุนในด้านเทคนิค และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ จึงได้มีการกำหนดเป็นกิจกรรมติดตามผล (Follow-up Activities) ที่เน้นในด้านการจัดหาความช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไข (i) ดังนี้
i)เป็นการจัดตั้งระบบข้อมูลในระดับประเทศเพื่อการจัดทำแผนที่ทรัพยากรทางวัฒนธรรมแห่งชาติ (mapping cultural Resources) การรวบรวมข้อมูลทั่วไป และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยจะถือว่ากิจกรรมเหล่านี้สมควรได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในระดับที่มีสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในฐานะที่กิจกรรมที่ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่ใช้ในการกำหนดนโยบายและการวางแผนที่ยึดหลักการแบบประจักษ์ (Evidence-base) ในทุกระดับชั้น ./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น